ส่วนประกอบปั๊มหอยโข่ง มีอะไรบ้าง??
ส่วนประกอบปั๊มหอยโข่ง มีอะไรบ้าง??
ปั๊มหอยโข่ง (Centrifugal Pump) เป็นปั๊มสูบน้ำที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวบ่งบอกอย่างชัดเจน เราสามารถรู้ได้จากรูปทรงของตัวปั๊มที่เหมือนขดของหอยโข่งและระบบการทำงานภายใน เป็นปั๊มที่นิยมใช้กันมากไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม โรงงาน โรงแรม ภาคการเกษตร และใช้ในครัวเรือน เนื่องจากเป็นปั๊มชนิดแรงเหวี่ยงจึงเหมาะกับงานที่ต้องการน้ำในปริมาณปานกลางถึงมากและสูบส่งได้สูง ปั๊มหอยโข่ง Centrifugal Pump สามารถนำไปใช้สำหรับงานเพิ่มแรงดันน้ำภายในที่พักอาศัยและอุตสาหกรรม งานสูบน้ำในระบบหล่อเย็น เปลี่ยนถ่ายความร้อน งานสูบน้ำในสวนหย่อมหรือสวนผัก งานระบบบำบัดน้ำ งานชลประทาน นอกจากนี้ปั๊มหอยโข่งยังสามารถนำไปใช้ในงานสูบส่งสารเคมีบางชนิดได้
ปั๊มหอยโข่ง มีส่วนประกอบหลัก 5 ส่วนด้วยกัน ที่ทำให้ปั๊มทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
1. เพลาปั๊ม (Shaft)
เพลาปั๊ม (Shaft) คือ แกนกลางของตัวปั๊ม มีลักษณะเป็นแท่งโลหะที่มีปลายข้างหนึ่งสอดผ่านตัวใบพัด และปลายอีกข้างหนึ่งโผล่พ้นเรือนสูบออกไป สำหรับยึดกับมู่เล่หรือเพลาของเครื่องต้นกำลังที่จะมาฉุดเครื่องสูบน้ำ มีหน้าที่ในการรับพลังงานกลจากมอเตอร์เพื่อขับเคลื่อนใบพัด โดยปกติโลหะที่ใช้ทำเพลามักจะมีความแข็งแรง ทนทานต่อการสึกกร่อนเป็นอย่างดี
2. ใบพัด (Impeller)
ใบพัด (Impeller) ปั๊มหอยโข่งมี 3 แบบด้วยกัน ได้แก่ 1. ใบพัดแบบปิด (Closed Impeller) 2. ใบพัดแบบกึ่งเปิด (Semi-open Impeller) และ 3. ใบพัดแบบเปิด (Open Impeller) ใบพัดทั้งสามแบบแตกต่างกันที่การนำไปใช้งาน ซึ่งใบพัดแบบปิดจะเหมาะกับการนำไปใช้งานกับน้ำที่สะอาดและไม่มีตะกอนเท่านั้น ใบพัดแบบกึ่งเปิดเป็นใบพัดที่สามารถรองรับการไหลของน้ำที่มีตะกอนปนบางส่วนได้ และใบพัดแบบเปิดสามารถรองรับตะกอนที่มีขนาดใหญ่ขึ้นได้
3. ซีลกันรั่ว (Mechanical Seal)
เป็นซีลป้องกันการรั่วซึมของน้ำระหว่างตัวเรือนกับมอเตอร์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของปั๊มหอยโข่ง การที่จะเลือกใช้ Mechanical Seal ต้องรู้ชนิดของ Mechanical Seal การนำไปใช้งานกับเครื่องจักร และประเภทของของเหลวที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสภาพแวดล้อมทั้งหมดของเครื่องจักรที่จะนำไปใช้งานด้วยและที่เกี่ยวข้องกับ Mechanical Seal
4. ลูกปืน (Bearing)
ลูกปืน (Bearing) เป็นอีกชิ้นส่วนสำคัญของปั๊มหอยโข่งและเครื่องจักรกลอื่นๆ ใช้รองรับเพลาให้เที่ยงตรงทั้งในแนวรัศมีและแนวแกน ทำหน้าที่ในการถ่วงน้ำหนักระหว่างตัวปั๊มกับมอเตอร์ ทำให้ปั๊มมีความเสถียรในระหว่างการทำงาน และถ่ายทอดแรงที่เกิดขึ้นจากเพลาลงไปสู่อุปกรณ์ต่างๆของเครื่องจักรหรือปั๊มที่มีการหมุน ช่วยลดแรงเสียดทานหรือลดความฝืด (friction) ระหว่างการหมุนหรือการเลื่อนชิ้นส่วนอื่น สามารถถอดเปลี่ยนได้เมื่อเกิดการสึกหรอหรือชำรุด
5. เรือนปั๊ม (Casing)
เรือนปั๊ม (Casing) เป็นห้องรับแรงต่างๆ ที่เกิดจากการไหลของน้ำและแรงเหวี่ยงหนีศูนย์กลางจากใบพัด ด้วยรูปลักษณ์ของปั๊มหอยโข่งที่เป็นโข่งเกลียวทำให้ช่วงปริมาณการไหลกว้าง ให้ปริมาณน้ำมาก และมีขนาดกะทัดรัด
Cr. https://industrypro.co.th/